วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557
เวลาเรียน 11.30น.-14.00น.
ความรู้ที่ได้ศึกษาเพิ่มเติม
ออทิสติก สเปกตรัม
(Autism Spectrum Disorder)
|
| | |
| นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา |
| จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น |
| | |
ออทิสติก สเปกตรัม คืออะไร
เป็นโรคทางจิตเวชเด็ก จัดในกลุ่มความผิดปกติของระบบประสาท ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรม ทำให้เกิดความบกพร่องใน 2 ด้านหลัก คือ ด้านสังคม-การสื่อสาร และ ด้านพฤติกรรม-ความสนใจ
เดิมแบ่งกลุ่มย่อยเป็น ออทิสติก แอสเพอร์เกอร์ พีดีดีเอ็นโอเอส ในปัจจุบันเรียกรวมกันว่า “ออทิสติก สเปกตรัม” (Autism Spectrum Disorder) หรือจะเรียกว่า “ออทิสติก” ก็ถือว่าเป็นที่เข้าใจตรงกัน
ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด การบำบัดรักษาสามารถช่วยพัฒนาให้เด็กดีขึ้นได้มาก
แต่ละคนมีอาการแตกต่างกัน และความสามารถในการเรียนรู้ก็แตกต่างกันมาก ตั้งแต่รุนแรงมาก สื่อความหมายไม่ได้เลย จนถึงอัจฉริยะ มีความสามารถโดดเด่นเฉพาะด้าน เรียนจบปริญญา ในปัจจุบันพบประมาณ 6 คนต่อประชากร 1,000 คน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเกือบ 4 เท่า
อดีตเคยเชื่อว่า เกิดจากการเลี้ยงดูในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ในปัจจุบันยืนยันได้ชัดเจนว่า รูปแบบการเลี้ยงดูไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นออทิสติก
ออทิสติก สเปกตรัม มีอาการอย่างไร
ออทิสติก สเปกตรัม มีอาการหลักใน 2 ด้าน คือ ความบกพร่องในด้านสังคมและการสื่อสาร และมีแบบแผนของพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ทำซ้ำๆ และคงรูปแบบเดิม อาการมักแสดงให้เห็นตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มสังเกตความผิดปกติได้ชัดเจนในช่วงอายุขวบครึ่ง ในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการด้านภาษา พูดได้ไม่สมวัย มักสังเกตได้เร็วกว่า
ออทิสติก สเปกตรัม มีอาการหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละคน แสดงออกตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาการที่พบบ่อย ได้แก่
ด้านสังคมและการสื่อสาร
* ทักทายอย่างไม่เหมาะสม หรือไม่สนใจทักทาย
* สนทนาไม่ราบรื่น มักพูดแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ
* ขาดความสนใจร่วมกัน มีอารมณ์ร่วมกับคนรอบข้างน้อย
* ใช้ภาษาท่าทางไม่สัมพันธ์กับการพูดคุย
* สบตาและใช้ภาษาท่าทางไม่เหมาะสม
* ไม่เข้าใจหรือใช้ภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสารไม่เป็น
*ไม่แสดงออกทางสีหน้าท่าทาง
* แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับบริบททางสังคม
* เล่นตามจินตนาการไม่เป็น
* ผูกมิตรไม่เป็น ไม่รู้วิธีการสร้างสัมพันธภาพ
* ไม่ค่อยสนใจผู้คนรอบข้าง
ด้านแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรม
* พูดเป็นคำหรือวลีซ้ำๆ
* ใช้ภาษาที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ
* เคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ เช่น โยกตัว กระโดด สะบัดมือ
* เคลื่อนไหวร่างกายแปลกๆ เป็นแบบแผนเฉพาะตัว
* ทานอาหารซ้ำๆ ใช้ของซ้ำๆ ใช้เส้นทางเดิมๆ
* ถามเรื่องเดิมซ้ำๆ มากเกิน
* กังวลมากเกินไปกับการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
* ยึดติดหรือหมกมุ่นกับวัตถุบางอย่างมากเกินปกติ
* สนใจในบางเรื่อง แบบหมกมุ่นมากเกินปกติ
* เย็นชาต่อความเจ็บปวด ความร้อน ความเย็น
* ตอบสนองต่อเสียงหรือผิวสัมผัสบางอย่างแบบรุนแรง
* ดมหรือสัมผัสกับวัตถุบางอย่างมากเกิน
* สนใจในแสงไฟ หรือวัตถุหมุนๆ มากเกิน
ในเด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไป ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป ควรมีการดำเนินการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และให้ความช่วยเหลือทันที อาการดังก่าวคือ
1) เล่นสมมติ เล่นจินตนาการไม่เป็น
2) ไม่สามารถชี้นิ้วบอกความต้องการได้
3) ไม่สนใจเข้ากลุ่มหรือเล่นกับเด็กคนอื่น
4) ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสนใจร่วมกับคนอื่น
เมื่อเป็นออทิสติก สเปกตรัม ควรทำอย่างไร
เริ่มต้นด้วยการปรึกษากับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อตรวจประเมิน วินิจฉัย และวางแผนการดูแลร่วมกัน หาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งค้นคว้าต่างๆ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากความรู้ยังไม่นิ่ง เมื่อมีข้อสงสัยให้นำไปปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลเป็นระยะ
การบำบัดรักษาจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายสาขา ดูแลร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย นักวิชาการศึกษาพิเศษ ฯลฯ
การบำบัดรักษาที่จำเป็น * การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior Modification) * กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) * แก้ไขการพูด (Speech Therapy) * การฝึกทักษะทางสังคม (Social Skill Training) * การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการศึกษา (Special Education) * การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ (Vocational Training) * การใช้ยา (Pharmacotherapy)
การบำบัดรักษาเสริมหรือทางเลือก * ศิลปะบำบัด (Art Therapy) * ดนตรีบำบัด (Music Therapy) * การบำบัดด้วยสัตว์ (Animal-assisted Therapy)
การบำบัดรักษาที่ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ยืนยัน * ออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) * การบำบัดเซลล์ (Cell Therapy) * การฝังเข็ม (Acupuncture)
การบำบัดรักษาที่ยืนยันแล้วว่าไม่ได้ผล * วิตามินบี ขนาดสูง (Megavitamin)
อย่ากลัวที่จะรู้ว่าลูกเป็นอะไร แต่กลัวที่ลูกจะเสียโอกาสในการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงทีมากกว่า
ออทิสติกไม่ได้สร้างความแตกต่าง แต่เป็นเพราะว่าเด็กทุกคนแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้และเข้าใจใน ความแตกต่างกันของเด็กแต่ละคน
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น